สู่กฎระเบียบการนำเข้าไม้ของประเทศไทย
โดย มาริโกล์ด นอร์แมน และ เจด ซอนเดอร์
By Marigold Norman & Jade Saunders View Publicationในระหว่างปี พ.ศ. 2555 และ 2559 ประเทศไทยนับเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้รายสำคัญที่สุดของโลก (ภาพที่ 1) จากการส่งออกที่มีมูลค่าเกือบ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยประเทศไทยมีความพยายามเพิ่มมากขึ้นในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ของภูมิภาค ทั้งยังเป็นผู้จัดหาสินค้าเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้รายหลักให้แก่ตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และตลาดเอเชีย ไม้ส่วนมากที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปที่กำลังเติบโตในขณะนี้ มาจากทั้งสวนป่าภายในประเทศและจากการนำเข้า
เนื่องจากประเทศไทยจัดวางตนเองในฐานะผู้ผลิตเพื่อการส่งออก การรักษาการเข้าถึงตลาดต่างๆ จึงจำต้องอาศัยความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นในการพิสูจน์ว่าไม้ที่นำมาผลิตสินค้าทั้งหมดนั้น (ทั้งสินค้าจากการนำเข้าและที่ผลิตภายในประเทศ) ถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อจัดการกับการค้าไม้ผิดกฎหมายได้มีการดำเนินการมาแล้วหลายปีในทุกภาคส่วนของสหภาพยุโรป (ผ่านกฎระเบียบการค้าไม้ของสหภาพยุโรป หรือ EUTR) และในสหรัฐอเมริกา (ผ่านกฎหมายเลซีย์) รวมถึงในออสเตรเลีย (ผ่าน พ.ร.บ. ว่าด้วยการห้ามทำไม้ผิดกฎหมาย หรือ ILPA) พร้อมด้วยการบังคับใช้และนำไปปฏิบัติที่ดี โดยล่าสุด ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีได้จัดทำข้อกำหนดในการส่งเสริมการค้าสินค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามได้มีฉันทามติในการแยกไม้ผิดกฎหมายออกจากการนำเข้าในฐานะองค์ประกอบสำคัญของระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ภายใต้ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGTVPAs)เช่นเดียวกันกับประเทศจีน ที่มีรายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณาการควบคุมการนำเข้าไม้ การเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อการเข้าถึงตลาดสำหรับไม้แปรรูป และเห็นถึงการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่าน“การนำเข้า”ไม้ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย